ผ่านพ้นปีใหม่ไปแล้ว อีกสิ่งนึงที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราต้องทำ และพลาดไม่ได้ นั่นก็คือ การยื่นภาษี นั่นเอง! แน่นอนว่ายังมีหลาย ๆ คน ที่ยังไม่รู้การยื่นภาษีว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องยื่นที่ไหน ยุ่งยากหรือเปล่า เพราะเมื่อก่อนการยื่นภาษีค่อนข้างยาก และขั้นตอนเยอะพอสมควร แต่ผู้อ่านทางบ้านไม่ต้องกังวลไป เพราะในตอนนี้การยื่นภาษีนั้นสามารถทำได้ง่ายมาก ๆ ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้เราสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้แล้ว
สำหรับใครที่สงสัยว่า ภาษีคืออะไร ใครต้องยื่นบ้าง ทำอย่างไร ไปดูกัน!
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร?
เริ่มแรกเลย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร? มันก็คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีนั้น ๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคม ถึงมีนาคมของปีถัดไป หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ บุคคลใดที่มีรายได้ตั้งแต่ 120,000 ขึ้นไป ต้องทำการยื่นภาษีทุกคนนั่นเอง
สงสัยใช่มั้ยว่าเราต้องยื่นภาษีหรือเปล่า? สามารถดูตรงนี้ได้เลย เพราะเราจะจัดแจงว่าใครต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบ้าง ซึ่งในที่นี้คือ บุคคลที่มีรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด นั่นก็คือ..
ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ต่างกันอย่างไร?
หลายคนอาจสงสัยว่า ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด. 91 แตกต่างกันอย่างไร แล้วเราควรจะยื่นภาษีประเภทใด? มาดูความแตกต่างกัน
- ภ.ง.ด. 90 คือรายได้ที่ได้รับจากช่องทางอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น รายได้จากกิจการส่วนตัว ค้าขายออนไลน์ ค่าเช่าบ้าน ดอกเบี้ยจากการลงทุน เงินปันผล ฯลฯ
- ภ.ง.ด. 91 คือรายได้จากเงินเดือน เช่น เงินเดือน เบี้ยขยัน โบนัส ฯลฯ
เอกสารสำคัญที่ใช้ยื่นภาษี
แล้วเอกสารที่เราต้องยื่นมีอะไรบ้างล่ะ?
- เอกสารแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารการลดหย่อนภาษี เช่น ใบเสร็จเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ หลักฐานการบริจาค ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน “ช็อปดีมีคืน” ฯลฯ
ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์
หลังจากที่เรารู้แล้วว่า ใครต้องยื่นบ้าง แล้วเอกสารที่ต้องยื่นมีตัวไหนบ้าง เราก็ไปดูขั้นตอนได้เลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง!
ขั้นตอนที่ 1 สมัครสมาชิก
เข้าเว็บไซต์ของกรรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/ เลือก > สมัครสมาชิก
ในขั้นตอนการ สมัครสมาชิก จะต้องกรอกเลขบัตรประชาชน หลังจากนั้นจะมีให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ – นามสกุล วันเดือนปีเกิด ฯลฯ ให้เรากรอกข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่เช่นนั้น ข้อมูลอาจผิดพลาดได้นะ
ขั้นตอนที่ 2 เข้าสู่ระบบ E-filing
เมื่อสมัครสมาชิกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เราเลือก > เข้าสู่ระบบ
ต่อไป เราก็เข้าไปกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและรหัสผ่าน ที่เราได้ทำการสมัครสมาชิกมาข้างต้นไว้ และกด > เข้าสู่ระบบ ได้เลย
เมื่อเราเข้าสู่ระบบมาแล้วจะมีให้เรากดเลือกเพื่อรับรหัส OTP
1. สำหรับใครที่ทำการสมัครสมาชิกใหม่สามารถเลือก > เบอร์โทรศัพท์ที่ได้แจ้งไว้
2. ส่วนสำหรับใครที่ได้มีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์เลือก > ระบุเบอร์โทรศัพท์ใหม่
และกรอกเบอร์โทรศัพท์ใหม่ลงไปได้เลย
เสร็จแล้วให้เลือก > ขอรหัส OTP ไปโล้ด
หลังจากนั้นจะมีข้อความส่งเข้ามาที่เบอร์โทรศัพท์ที่เราได้ลงทะเบียนหรือกรอกไว้กับทางระบบ ให้เรานำรหัส OTP ที่ได้รับมากรอก และเลือก > ยืนยัน OTP ก่อนนะ
ขั้นตอนที่ 3 ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 90/91
เมื่อเราทำการเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว ให้เราเลือก > ยื่นแบบ ของ ภ.ง.ด. 90/91
ขั้นตอนที่ 4 กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี
เมื่อเข้ามาถึงหน้านี้ให้เราทำการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว และหากใครมีกิจการส่วนตัว ให้ใส่ชื่อร้านหรือชื่อกิจการลงไปด้วย หลังจากนั้นทำการเลือก > สถานะ เมื่อเสร็จแล้วเลือก > ถัดไป
ขั้นตอนที่ 5 กรอกข้อมูลรายได้
ขั้นตอนนี้ให้เราทำการกรอกข้อมูลรายได้จากเงินเดือน โดยเลือก > ระบุข้อมูล
- ใส่เงินได้ทั้งหมด (12 เดือน)
- ใส่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้าไม่มีให้ใส่ 0)
- เลขผู้จ่ายเงินได้ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่เราทำอยู่)
โดยที่เราจะนำข้อมูลรายได้มาจากมากจากหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ที่บริษัทออกให้
และหากใครที่มีรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน ไม่ว่าจะเป็น รายได้จากฟรีแลนซ์ เงินปันผล เงินได้จากการได้รับมรดก หรือรายได้ส่วนอื่น ก็สามารถกรอกข้อมูลตามรายได้ในหัวข้ออื่น ๆ ไปด้วย เสร็จแล้ว เลือก > ถัดไป
ขั้นตอนที่ 6 กรอกค่าลดหย่อนภาษี
เมื่อเข้ามาถึงในหน้าที่ต้องกรอกค่าลดหย่อน ทุกคนจะได้รับค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้ 60,000 บาท (ตัวเอง) หลังจากนั้นให้กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
นอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัวแล้ว ยังมีค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่เราสามารถนำมาลดหย่อนค่าภาษีได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เงินบริจาค เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น
เมื่อกรอกค่าลดหย่อนเรียบร้อยแล้ว เลือก > ถัดไป
ขั้นตอนที่ 7 ตรวจสอบข้อมูล
หลังจากเราทำการกรอกข้อมูลที่ใช้ในการยื่นภาษีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เราทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้ง ในกรณีที่ต้องเสียภาษี ระบบจะแสดงยอดภาษีที่ต้องชำระ และเราสามารถกดดูวิธีคำนวณได้ เมื่อทำการตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้วให้ เลือก > ถัดไป
ขั้นตอนที่ 8 ยืนยันการยื่นแบบ
เมื่อเราทำการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ในขั้นตอนสุดท้าย เลือก > ยืนยันการยื่นแบบ
ก็ถือว่าการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาเรียบร้อยแล้ว
ภาษีออนไลน์ของปี 2565 สามารถยื่นถึงเมื่อไหร่กันนะ?
สำหรับภาษีบุคคลธรรมดาเราสามารถยื่นได้ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี แต่ก็มีบางกรณีที่มีความพิเศษและมีการเลื่อนวันออกไป อย่างปีนี้เราจะสามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 ซึ่งเราสามารถติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ของสรรพากร (www.rd.go.th) โดยทางสรรพากรจะมีการอัปเดตข้อมูลให้ตลอด
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ไม่ยากเลยใช่มั้ย แค่เพียง 8 ขั้นตอนก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้แล้ว เพียงเราเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้ครบ ก่อนที่จะกรอกข้อมูลบนเว็บไซต์ ซึ่งหากใครไม่สะดวกไปยื่นภาษีได้ที่สำนักงานสรรพากร ก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ สะดวกสุดๆ!
“A better tomorrow starts today”
Line@ : bit.ly/ForeToday
FB Chat : http://m.me/foretoday