ผ่านพ้นปีใหม่ไปแล้ว อีกสิ่งนึงที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราต้องทำ และพลาดไม่ได้ นั่นก็คือ การยื่นภาษี นั่นเอง! แน่นอนว่ายังมีหลาย ๆ คน ที่ยังไม่รู้การยื่นภาษีว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องยื่นที่ไหน ยุ่งยากหรือเปล่า เพราะเมื่อก่อนการยื่นภาษีค่อนข้างยาก และขั้นตอนเยอะพอสมควร แต่ผู้อ่านทางบ้านไม่ต้องกังวลไป เพราะในตอนนี้การยื่นภาษีนั้นสามารถทำได้ง่ายมาก ๆ ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้เราสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้แล้ว

สำหรับใครที่สงสัยว่า ภาษีคืออะไร ใครต้องยื่นบ้าง ทำอย่างไร ไปดูกัน! 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร?

เริ่มแรกเลย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร? มันก็คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีนั้น ๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคม ถึงมีนาคมของปีถัดไป หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ บุคคลใดที่มีรายได้ตั้งแต่ 120,000 ขึ้นไป ต้องทำการยื่นภาษีทุกคนนั่นเอง 

สงสัยใช่มั้ยว่าเราต้องยื่นภาษีหรือเปล่า? สามารถดูตรงนี้ได้เลย เพราะเราจะจัดแจงว่าใครต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบ้าง ซึ่งในที่นี้คือ บุคคลที่มีรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด นั่นก็คือ..

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?

  1. บุคคลธรรมดา
  2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  3. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
  4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
  5. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ต่างกันอย่างไร?

หลายคนอาจสงสัยว่า ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด. 91 แตกต่างกันอย่างไร แล้วเราควรจะยื่นภาษีประเภทใด? มาดูความแตกต่างกัน

เอกสารสำคัญที่ใช้ยื่นภาษี

แล้วเอกสารที่เราต้องยื่นมีอะไรบ้างล่ะ?

  1. เอกสารแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
  2. เอกสารการลดหย่อนภาษี เช่น ใบเสร็จเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ หลักฐานการบริจาค ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน “ช็อปดีมีคืน” ฯลฯ

ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์

หลังจากที่เรารู้แล้วว่า ใครต้องยื่นบ้าง แล้วเอกสารที่ต้องยื่นมีตัวไหนบ้าง เราก็ไปดูขั้นตอนได้เลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง!

ขั้นตอนที่ 1 สมัครสมาชิก

เข้าเว็บไซต์ของกรรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/ เลือก > สมัครสมาชิก

ในขั้นตอนการ สมัครสมาชิก จะต้องกรอกเลขบัตรประชาชน หลังจากนั้นจะมีให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ – นามสกุล วันเดือนปีเกิด ฯลฯ ให้เรากรอกข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่เช่นนั้น ข้อมูลอาจผิดพลาดได้นะ

ขั้นตอนที่ 2 เข้าสู่ระบบ E-filing


เมื่อสมัครสมาชิกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เราเลือก > เข้าสู่ระบบ

ต่อไป เราก็เข้าไปกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและรหัสผ่าน ที่เราได้ทำการสมัครสมาชิกมาข้างต้นไว้ และกด > เข้าสู่ระบบ ได้เลย

เมื่อเราเข้าสู่ระบบมาแล้วจะมีให้เรากดเลือกเพื่อรับรหัส OTP
1. สำหรับใครที่ทำการสมัครสมาชิกใหม่สามารถเลือก > เบอร์โทรศัพท์ที่ได้แจ้งไว้
2. ส่วนสำหรับใครที่ได้มีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์เลือก > ระบุเบอร์โทรศัพท์ใหม่ 

และกรอกเบอร์โทรศัพท์ใหม่ลงไปได้เลย

เสร็จแล้วให้เลือก > ขอรหัส OTP ไปโล้ด

หลังจากนั้นจะมีข้อความส่งเข้ามาที่เบอร์โทรศัพท์ที่เราได้ลงทะเบียนหรือกรอกไว้กับทางระบบ ให้เรานำรหัส OTP ที่ได้รับมากรอก และเลือก > ยืนยัน OTP ก่อนนะ

ขั้นตอนที่ 3 ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 90/91

เมื่อเราทำการเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว ให้เราเลือก > ยื่นแบบ ของ ภ.ง.ด. 90/91

ขั้นตอนที่ 4 กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี

เมื่อเข้ามาถึงหน้านี้ให้เราทำการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว และหากใครมีกิจการส่วนตัว ให้ใส่ชื่อร้านหรือชื่อกิจการลงไปด้วย หลังจากนั้นทำการเลือก > สถานะ เมื่อเสร็จแล้วเลือก > ถัดไป 

ขั้นตอนที่ 5 กรอกข้อมูลรายได้

ขั้นตอนนี้ให้เราทำการกรอกข้อมูลรายได้จากเงินเดือน โดยเลือก > ระบุข้อมูล

และหากใครที่มีรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน ไม่ว่าจะเป็น รายได้จากฟรีแลนซ์ เงินปันผล เงินได้จากการได้รับมรดก หรือรายได้ส่วนอื่น ก็สามารถกรอกข้อมูลตามรายได้ในหัวข้ออื่น ๆ ไปด้วย เสร็จแล้ว เลือก > ถัดไป

ขั้นตอนที่ 6 กรอกค่าลดหย่อนภาษี

เมื่อเข้ามาถึงในหน้าที่ต้องกรอกค่าลดหย่อน ทุกคนจะได้รับค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้ 60,000 บาท (ตัวเอง) หลังจากนั้นให้กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

นอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัวแล้ว ยังมีค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่เราสามารถนำมาลดหย่อนค่าภาษีได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เงินบริจาค เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น 

เมื่อกรอกค่าลดหย่อนเรียบร้อยแล้ว เลือก > ถัดไป 

ขั้นตอนที่ 7 ตรวจสอบข้อมูล

หลังจากเราทำการกรอกข้อมูลที่ใช้ในการยื่นภาษีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เราทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลอีกครั้ง ในกรณีที่ต้องเสียภาษี ระบบจะแสดงยอดภาษีที่ต้องชำระ และเราสามารถกดดูวิธีคำนวณได้ เมื่อทำการตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้วให้ เลือก > ถัดไป

ขั้นตอนที่ 8 ยืนยันการยื่นแบบ

เมื่อเราทำการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ในขั้นตอนสุดท้าย เลือก >  ยืนยันการยื่นแบบ
ก็ถือว่าการยื่นภาษีบุคคลธรรมดาเรียบร้อยแล้ว

ภาษีออนไลน์ของปี 2565 สามารถยื่นถึงเมื่อไหร่กันนะ?

สำหรับภาษีบุคคลธรรมดาเราสามารถยื่นได้ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี แต่ก็มีบางกรณีที่มีความพิเศษและมีการเลื่อนวันออกไป อย่างปีนี้เราจะสามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 ซึ่งเราสามารถติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ของสรรพากร (www.rd.go.th) โดยทางสรรพากรจะมีการอัปเดตข้อมูลให้ตลอด

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ไม่ยากเลยใช่มั้ย แค่เพียง 8 ขั้นตอนก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้แล้ว เพียงเราเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้ครบ ก่อนที่จะกรอกข้อมูลบนเว็บไซต์ ซึ่งหากใครไม่สะดวกไปยื่นภาษีได้ที่สำนักงานสรรพากร ก็สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ สะดวกสุดๆ!

“A better tomorrow starts today”

Line@ : bit.ly/ForeToday 

FB Chat : http://m.me/foretoday