สังคมออนไลน์ในปัจจุบัน มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา กระแสของผู้มีชื่อเสียงหรือเหตุการณ์ไวรัลมากมาย ต่างถูกโยงไปถึงเรื่องทางจริยธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งการทำการตลาดหรือการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้เสพสื่อออนไลน์มากขึ้น อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในละครเรื่อง “แม่หยัว” จะมีฉากหนึ่งที่เป็นการวางยาสลบแมว เพื่อประกอบการถ่ายทำ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเยอะมากๆ ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและความเหมาะสมว่าควรหรือไม่ควร เกิดเป็นกระแสสังคมขึ้นมาทันที
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.one31.net/shows/detail/548
เมื่อฉากวางยาสลบแมวได้ถูกออกอากาศ ก็นำมาซึ่งความไม่พอใจจากสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสัตว์ ส่งผลให้เกิดเป็นกระแสในโลกออนไลน์แบบวันต่อวัน จนเกิดเป็นเทรนด์สุดเดือดใน x กับ Hastag #แบนแม่หยัว สังคมต่างเรียกร้องให้ผู้จัดละคร ผู้กำกับ ทีมงาน และผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว ออกมาแสดงความรับผิดชอบและออกมาแถลงข่าวในประเด็นนี้
จะเห็นได้ว่า ทุกความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ที่วิพากย์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมานี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความห่วงใยในความปลอดภัยของสัตว์เท่านั้น แต่ยังเป็นจุดที่ไปกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ไม่ละเมิดถึงจริยธรรมต่อสิ่งมีชีวิตด้วยกัน
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_9498707
จริยธรรมทางการตลาดเกี่ยวข้องกับกระแสสังคมอย่างไร
จริยธรรมทางการตลาดไม่ได้หมายถึงเพียงการหลีกเลี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือการหลอกลวงผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความใส่ใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิต โดยการนำสัตว์มาใช้ในงานโฆษณาหรือประกอบการถ่ายทำ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย ซึ่งกระแสสังคมที่เกิดขึ้นจากประเด็นร้อนของละคร มาจากกลุ่มคนรักสัตว์ที่รับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่มีการวางยาสลบแมวจริง ๆ ในฉาก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของแมวได้จริง
หากนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาวิเคราะห์ถึงกลยุทธ์การทำการตลาด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค กรณีการใช้การวางยาสลบแมวในละครเรื่องแม่หยัว สามารถวิเคราะห์ผ่านมุมมองของจริยธรรมการตลาด โดยอ้างอิงถึงหลักการสำคัญอย่าง Ethical Marketing ซึ่งวิเคราะห์ออกมาได้ทั้งหมด 5 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
ขอบคุณรูปภาพจาก https://wisepops.com/blog/ethical-marketing
ความเข้าอกเข้าใจ หรือ Empathy
เพราะแบรนด์และผู้ผลิตต้องคำนึงถึงความรู้สึกและความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ความเข้าอกเข้าใจจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของจริยธรรมทางการตลาด หากนำมาวิเคราะห์กับฉากการวางยาสลบแมวในละคร อาจถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของทีมงาน เช่น การทรมานสัตว์ หรือการละเลยต่อความรู้สึกของผู้รักสัตว์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้ได้ส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์ภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างรุนแรง
ซึ่งผู้จัดละครควรแสดงให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยการเขียนบทโทรทัศน์หรือวางแผนขั้นตอนการถ่ายทำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนรักสัตว์ รวมถึงให้ความสำคัญกับการเคารพชีวิตสัตว์อีกด้วย
ความซื่อสัตย์ หรือ Honesty
ความซื่อสัตย์เป็นหลักการที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค กระแสวิพากวิจารณ์ที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนถึงคำถามเรื่องการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาได้ หากผู้จัดละครไม่ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าไม่ได้ทำอันตรายต่อสัตว์จริง อาจถูกมองว่าเป็นการบิดเบือนข้อมูลหรือขาดความซื่อสัตย์ในหน้าที่การงาน
ความซื่อสัตย์เป็นการยอมรับข้อผิดพลาดอย่างหนึ่ง การออกมาขอโทษและชี้แจงซึ่งความเป็นจริง อาจเป็นวิธีการที่แสดงถึงความซื่อสัตย์ของแบรนด์หรือองค์กรที่ดีที่สุด ดังนั้น ความซื่อสัตย์จะช่วยลดความขัดแย้งทางความคิด และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นบวกในสายตาของผู้บริโภค การแสดงออกในทางที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคยังคงให้การสนับสนุนต่อไป
ความโปร่งใส หรือ Transparency
ความโปร่งใสเป็นอีกหนึ่งหลักการสำคัญในยุคที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย หากผู้จัดละครสามารถสื่อสารถึงกระบวนการถ่ายทำที่ปลอดภัยและไม่ทำอันตรายต่อสัตว์ อาจช่วยลดความเข้าใจผิดและกระแสวิพากย์วิจารณ์ได้ หากผู้ชมและผู้เสพสื่อเห็นความโปร่งใสในทุกขั้นตอนการทำงาน ก็จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและลดความวิตกกังวลลงได้
ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อกลางในการอธิบายกระบวนการทำงาน หรือรับรองว่าทีมงานทุกฝ่ายและนักแสดงทุกท่านได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่สามารถช่วยเพิ่มความไว้วางใจจากสังคมได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.facebook.com/photo.php?
การรักษาคำมั่นสัญญา หรือ Promise
การรักษาคำมั่นสัญญาเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความไว้วางใจในระยะยาวระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค ในกรณีนี้ หากผู้จัดละครแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่สัญญาไว้ เช่น การรับประกันว่าไม่มีการทำร้ายหรือทรมานสัตว์ระหว่างกระบวนการถ่ายทำอีกหลังจากนี้ ก็จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของผู้ชมและผู้เสพสื่อ เพราะการแสดงออกถึงความใส่ใจในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเข้าใจผิดหรือกระแสต่อต้านในอนาคตได้
ความยั่งยืน หรือ Sustainability
ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของจริยธรรมทางการตลาด ผู้จัดละครควรแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบและเลือกใช้วิธีการถ่ายทำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์หรือธรรมชาติ เช่น การกำหนดนโยบายในการใช้สัตว์ในงานโฆษณา การใช้เทคนิค CGI (Computer-Generated Imagery) แทนการใช้สัตว์จริง หรือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสัตว์ก่อนเริ่มถ่ายทำ
สรุป
เหตุการณ์วางยาสลบแมวในละคร “แม่หยัว” เป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ถึงความสำคัญในการยึดมั่นจริยธรรมทางการตลาด หากผู้จัดละครสร้างเนื้อหาที่มีความเข้าอกเข้าใจ ซื่อสัตย์ โปร่งใส รักษาคำมั่นสัญญา และมีความยั่งยืน ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงจากกระแสวิพากย์วิจารณ์เท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคได้ เพราะการให้ความสำคัญกับจริยธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของภาพลักษณ์ แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริงอีกด้วย
เมื่อองค์กรหรือแบรนด์ยึดมั่นในหลักการ Ethical Marketing จะช่วยรักษาความน่าเชื่อถือ และเสริมสร้างคุณค่าให้กับสังคม รวมถึงสร้างพื้นฐานสู่ความสำเร็จในอนาคตอีกด้วย