ทำไม หนัง “สัปเหร่อ” ถึงโกยรายได้ สูงถึง 300ล้านบาท บทความนี้มีคำตอบ!

เมื่อเราพูดถึงหนังในช่วงนี้ที่กำลังฮอตฮิตติดกระแสลมบน ก็คงต้องขอยกหนังในจักรวาลไทบ้านอย่าง “สัปเหร่อ” มาแกะสูตรความสำเร็จของหนังให้เพื่อนๆชาวฟอร์ทูมอร์โร่วมาให้ได้อ่านกันค่ะ  

หลายๆคนอาจสงสัยว่าจู่ๆทำไมหนังแบรนด์ไทบ้านถึงได้มีกระแสได้มากถึงขนาดที่สามารถกวาดรายได้สูงถึง 500ล้านบาท ใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียวหากเทียบ Benchmark  (*Benchmark คือ เกณฑ์มาตรฐานหรือคำที่ใช้อธิบายบางสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นจุดอ้างอิง ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึงตัวเลข) ของหนังทั่วไปในตลาด อะไรคือสิ่งที่ทำให้หนังเรียกได้ว่าอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของตัวเงิน อีกทั้งในแง่ของการเข้าถึงคนส่วนใหญ่ ที่ทุกเว็บการันตีด้วยคะแนนรีวิว 8 – 10 แทบจะทุกเว็บ และสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อนของแอดมินต่างก็พูดถึงหนังเรื่องนี้รวมถึงหนึ่งในทีมแอดมินที่เขียนบทความนี้ก็ดูเรื่องนี้แล้วเช่นเดียวกัน! ด้วยความสงสัยเกี่ยวกับความสำเร็จของหนัง ที่ภายนอกโปรโมทบ้านๆสไตล์ธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา บวกกับการที่ต้องเขียน Knowledge sharing ที่เป็นกิจกรรมของบริษัททุกเดือน ทางทีมจึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ถึงความสำเร็จเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ทางทีมจึงสรุปสูตรความสำเร็จของหนังที่ก่อให้เกิดรายได้มากมาย และยังอิมแพคต่อคนดูในเนื้อหนังบางส่วนอีกด้วย จะมีอะไรบาง ไปอ่านกันได้เล้ย!

1.การทำหนังที่ค่อยๆแผ่วงกว้างเนื้อเรื่อง เหมือนจักรวาลมาเวล เปรียบเสมือนการสร้างAwarenessและการมีProductที่หลากหลาย

หนังของจักรวาลไทบ้านมีฐานคนดูมาตั้งแต่ ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ (2560) หนังเรื่องแรกของจักรวาลที่จับจ้องไปยังเรื่องของ จาลอด หนุ่มไทบ้านที่ต้องทำภารกิจจีบสาวให้ได้ครบร้อยคน ตัวหนังอาจไม่ได้สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จกระหึ่มเท่าภาคหลังๆ หากแต่มันแจ้งเกิดผู้กำกับและนักแสดงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ความโดดเด่นของหนัง -และอาจจะถือเป็นจุดแข็งแบบตีไม่แตก- คือการที่มันเล่าเรื่องคนอีสานอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ รู้จริงของ สุรศักดิ์ ป้องศร ผู้กำกับชาวศรีสะเกษ ‘อีสาน’ ในจักรวาลไทบ้านจึงไม่ได้เป็นอีสานที่เคลือบด้วยสายตาของคนเมืองกรุงอย่างที่หนังไทยหลายๆ เรื่องมักเป็นเมื่อเล่าเรื่องในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ หรือตัวละครที่มีลักษณะเป็น ‘หนุ่ม/สาวข้างบ้าน’ และเส้นเรื่องที่ไม่ไกลตัวนัก ตลอดจนการที่ตัวหนังรู้ดีว่ากำลังสนทนากับใคร กลุ่มคนดูของหนังคือใคร ก็ช่วงให้มันเดินทางไปหากลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ

– องค์ประกอบอีกประการหนึ่งที่กลายเป็นเนื้อเดียวกันกับตัวหนังคือเพลงประกอบของจักรวาลไทบ้าน ไล่มาตั้งแต่ ทดเวลาบาดเจ็บ ของ บอย พนมไพร และ ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ โดย ปรีชา ปัดภัย ประกอบหนัง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’, แรกตั้งใจฮัก ประกอบ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2’ (2561) ซึ่งเพลงทั้งหมดนี้มียอดกดเข้าไปฟังในยูทูบหลายร้อยล้านครั้ง (ลำพังแค่ กอดเสาเถียง ก็น่าจะได้ยอดกดเข้าไปฟังจากผู้เขียนและชาวคณะในออฟฟิศไปแล้วกว่าหมื่นครั้ง)

2.นักแสดงเป็นตัวตนจริง สำเนียงจริง ตัวตนตอบโจทย์กับกลุ่มTargetชาวอีสาน 

การที่ สัปเหร่อ ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ นั้นอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังถูกขับเคลื่อนด้วยดาราดังแล้ว แต่ให้ย้อนกลับไปตอนพวกเขาตั้งไข่ในไทบ้านภาคแรก ไม่มีใครดังเลย ทุกบทมีการทำแคสติ้งกันอย่างจริงจังจนได้คนที่เหมาะกับบทจริงๆ และมีเวลาให้บทเต็มที่ ไม่ต้องรอสับคิว ถ่ายกันห้าเดือนเขาก็มีเวลาให้บทที่เขาสวมห้าเดือน เรียกได้ว่าแบรนด์เขาสร้างฐานมาจนแกร่งด้วยนักแสดงที่ใช่ แล้วอะไรๆก็ตามมาเอง จนกลายเป็นจักรวาลที่คนอีสานต้องตีตั๋วเข้าไปดู ไม่เว้นแม้แต่คนภูมิภาคอื่น อาจจะเพราะอยากลองของ ทำไมหนังมันดังจัง แล้วสุดท้ายก็โดนตกไปเต็มๆ แล้วพากันติดตามดูมันทุกภาค ไม่ว่าจะจักรวาลหลักหรือภาค Spin-off เรียกได้ว่าถ้า Marvel ทำสำเร็จ ทีมไทบ้านก็สามารถทำได้ไม่ต่างกันในระดับภูมิภาค

3.การสื่อสารวัฒนธรรอีสานที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยในปัจจุบัน 

เป็นที่ชัดเจนที่วัฒนธรรมอีสานปรากฏในภาพยนต์ตระกูล ไทบ้านเดอะซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรอาหารการกิน ความเป็นอยู่อาศัยที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้น ล้วนแล้วแต่มีฉายอยู่บนจอในหนังให้ผู้ชมภาพยนต์ได้เห็นกันในการเล่าเรื่องผ่านภาพยนต์ตระกูล 

ซึ่งนอกจากนี้ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ในงานวิจัย การสื่อสารวัฒนธรรมอีสานในภาพยนตร์ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์”  คุณสุรศักดิ์ ป้องศร (Phongsorn, 2017) ผู้กำกับภาพยนตร์พบว่า การสื่อสารวัฒนธรรมอีสานในภาพยนตร์ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” มีแนวความคิดหลัก (Concepi) อยู่ที่การนำเสนอภาพเสมือนจริงภายใต้รูปแบบของความจริงใจโดยให้ตัวบทภาพยนตร์รเล่าความจริง ใช้ความจริงใจของภาพยนตร์เสนอให้กับผู้บริ โภค ด้วยการเล่าเรื่องด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ตามลักษณะของวิถีคนอีสานในปัจจุบัน โดยถ่ายทอดออกมาตามความเป็นจริง ให้คนดูเห็นแล้วเชื่อ รู้สึกว่านี่คือเรื่องราวของตัวเอง ผ่านนักแสดงที่ไม่มีการปรุงแต่ง คือ ไม่ใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียง แต่เป็นนักแสดงที่มีความเป็นอีสาน หน้าตาธรรมดา ที่โดยส่วนมากก็จะยังไม่มีประสบการณ์ด้านการแสดงทั้งนี้จะให้ความเป็นธรรมชาติในการแสดงมากอย่างที่กล่าวไปตามหัวข้อข้างบน นอกจากนี้ยังพบว่า บทภาพยนตร์นั้น เขียนขึ้นมาโดยพยายามที่จะให้นักแสดงได้รับตัวละครที่เป็นตัวเองมากที่สุด โดยเป็นการ ปรับบทให้ตรงกับตัวนักแสดงมากกว่าที่จะให้นักแสดงปรับตัวเข้ากับตัวบท รวมไปถึง วิถีชีวิตต่างๆ ของชาวบ้านที่ล้วนถูกถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา เช่น การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันของคนในชนบท การมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชุมชน เป็นต้นล้วนเป็นไปในทิศทาง เดียวกันกับที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องการสื่อสาร

4.ความหลากหลายของหนังไทยที่มากขึ้นเรื่อยๆ และสัปเหร่อก็เป็นหนึ่งในความหลากหลายนั้น ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ในรอบปีสองปีที่ผ่านมา ลำพังเอาแค่ปีนี้ เราได้ดูหนังที่ ‘หลากรสชาติ’ มากขึ้นกว่าเดิมหลายเรื่อง ท้าทายคำวิพากษ์วิจารณ์แกมแดกดันที่ว่า “หนังไทยมีแต่หนังตลกหรือไม่ก็หนังผี” วัดกันจากหนังที่หลุดจากภาพจำของหนังไทยในสายตาคนดูไปไกลมากๆ อย่าง ‘Hunger คนหิวเกมกระหาย’ (2566) ที่ออกฉายทางระบบสตรีมมิง ที่เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ติดอันดับ Global Top 10 Films ของเน็ตฟลิกซ์ หรืออย่างปีที่ผ่านมาก็มี ‘คืนหมีฆ่า’ (2565) และ ‘The Up Rank’ (2565) ที่แม้จะทำรายได้ไม่เข้าเป้านัก แต่มันก็เป็นหนังที่มีหน้าตาแบบที่หากย้อนกลับไปสักห้าปีก่อน ก็ยากจะจินตนาการว่ามันจะหาที่ทางฉายในอุตสาหกรรมหนังไทยได้ยังไง 

รวมทั้งในปีนี้ เรายังมีหนังไทยหลากหลายใบหน้าเรียงเข้าฉายทั้งในระบบฉายโรงและระบบสตรีมมิง ไล่มาตั้งแต่ ‘ขุนพันธ์ 3’ (2566) ที่นับเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้ทะลุร้อยล้านบาทของปี , ‘ของแขก’ (2566) รวมทั้ง ‘มนต์รักนักพากย์’ (2566) ที่เข้าฉายในระบบสตรีมมิงของเน็ตฟลิกซ์ และกวาดคำชมถล่มทลายจากผู้ชม ยังไม่นับว่าปลายปีนี้เรามี ‘ดอยบอย’ (2566) หนังที่เพิ่งเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานและส่ง อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงนำของเรื่องคว้ารางวัลนักแสดงดาวรุ่ง (Rising Star Award) จากงาน Marie Claire with BIFF Asia Star Awards 2023 มาครอง รวมทั้ง ‘ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง’ (2566) ว่าด้วยความรักที่ก่อตัวขึ้นในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของไทย ตัวหนังได้รับเลือกให้เข้าประกวดในสาย New Currents จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 

หนังไทยหลายต่อหลายเรื่องในปีนี้อยู่พ้นจากกรุงเทพฯ เสียเป็นส่วนใหญ่อันสะท้อนแง่มุมหนึ่งของความหลากหลายในระบบนิเวศภาพยนตร์ ในอดีตนั้น หนังไทยมักถูกครหาว่าทำหนังให้คนเมือง (หรือคือคนกรุงเทพฯ) ดูเป็นหลัก เรื่องราวจึงวนเวียนอยู่ในพื้นที่ขนาดไม่กี่พันตารางกิโลเมตรซึ่งถือว่าเล็กจิ๋วหากจะเทียบกับขนาดของทั้งประเทศ ขณะที่ในปีนี้ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ (2566) เล่าเรื่องของเด็กหญิงฝาแฝดในนครพนมท่ามกลางบรรยากาศการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษใหม่, ‘เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ’ (2566) ปริศนาฆาตกรรมชวนอิหยังน้อของชาวเมียฝรั่งในจังหวัดร้อยเอ็ด, ‘สัปเหร่อ’ พาคนดูไปสำรวจชีวิตและวัฒนธรรมของคนอีสานถึงแก่น เช่น ฉากโยนไข่ถามทางเพื่อเลือกที่เผาศพ หรือในภาคใต้ก็มี ‘ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์’ (2566) หนังเปิดปีที่ว่าด้วยความเชื่อในนครศรีธรรมราช, ‘สะพานรักสารสิน 2216’ (2566) ความรักของหนุ่มกรีดยางกับสาววิทยาลัยบนเกาะชาวเลแห่งหนึ่งแถบภาคใต้, ‘รักได้แรงอก’ (2566) หนังโรแมนติก-คอมิดี้ที่แหล่งใต้กันทั้งเรื่อง, ‘ของแขก’ ที่พูดถึงความเชื่อในสามจังหวัดภาคใต้ (และการเล่นประเด็นอันแหลมคมเกี่ยวกับศาสนา) กับภาษายาวี หรือ ‘มนต์รักนักพากย์’ ที่ตามเหล่าตัวละครที่เป็นนักพากย์หนังขายยาไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด และกับปลายปี ‘ดอยบอย’ จับจ้องไปยังเรื่องของเด็กหนุ่มจากรัฐฉานที่เข้ามาทำงานในบาร์เกย์ที่เชียงใหม่

5.“การที่หนังดีสำหรับใครกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้แปลว่ามันจะดีสำหรับทุกคน” เแต่กลุ่มนึงที่ว่านั้นมัน คือ 1ส่วน3ของประเทศที่โดนใจ! คีย์หลักคือการผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้คน

จากผลสำรวจประชากรในไทยพบว่าสถิติจำนวนประชากรในปี 2563 ระบุว่า ภาคอีสานมีประชากรมากที่สุดราว 21.84 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 33% ของประชากรทั้งหมด 66.19 ล้านคน นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หนัง สัปเหร่อได้รับความนิยมในประเทศไทยในช่วงปีนี้(2023) เพราะจากหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้วไม่ว่าจะเป็น การที่หนังแสดงเอกลักษณ์ความเป็นชาวอีสานออกมาได้อย่างเป็นแก่นแท้ หรือการปรับตัวของผู้กำกับที่ไม่อยากให้หนังจำเจซ้ำซากน่าเบื่อ การที่มีประชากรชาวอีสานถึง 1ใน3ของประเทศก็เป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่สร้างให้จักรวาลไทบ้านรวมถึงทีมผู้จัดทำภาพยนต์ได้ก้าวมาถึงตรงนี้ ถ้ามองในมุมของการตลาด การสร้างภาพยนต์ที่ตอบโจทย์คนจำนวนมาก ก็เหมือนเป็นการที่เราสร้างผลิตภัณฑ์ได้ตอบโจทย์ลูกค้าจนทำให้ลูกค้ายอมเสียตังเพื่อเข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์ นั่นแสดงว่า ภาพยนต์เรื่องนี้ก็สามารถดึงความสุขหรือความรู้สึกดีของผู้คนให้ออกมาหลังจากชมภาพยนต์ได้และเกิดการรีวิวแบบปากต่อปากจนทำให้เกิดผลลัพท์ที่ดีที่โชว์ออกมาผ่านรายได้เป็นร้อยล้านบาทในเวลาอันสั้น 

ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก : https://www.bbc.com/thai/thailand-59198471

(สรุป) อนาคตที่ดีเริ่มต้นที่วันนี้ ติดตามการเติบโตของอุตสาหกรรมหนังไทยให้ไปต่อได้อย่างไม่สิ้นสุด

จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของหนัง”สัปเหร่อ”ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือว่าเกิดขึ้นข้ามคืน แต่เกิดจากการเตรียมการทุกอย่างมาอย่างดีตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดง,การสร้างฐานลูกค้าและการกำหนดทิศทางปรับเปลี่ยนตามความหลากหลายแปลกใหม่ของยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย ทั้งนี้ ซีรี่ย์ไทบ้านและวงการภาพยนต์ไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไป 

“A better tomorrow starts today”
Line@ : bit.ly/ForeToday
FB Chat : http://m.me/foretoday

Story by
Praphanphong P. – Writer
Pensiri C. – Co Writer