The age of AI has begun

สรุปบทความ บิล เกตส์ ‘The Age of AI has begun’ โลกในยุคที่ ‘AI’ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น บิล เกตส์ มองเห็นอย่างไรในอนาคต?

“ทำไมเราต้องรู้แนวคิดของ ‘บิล เกตส์’ เกี่ยวกับเรื่องของ AI”

หากจะพูดถึงการทำนายในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี บุคคลที่สามารถทำนายได้ค่อนข้างแม่นยำและน่าเชื่อถือ 10 อันดับแรก ก็คงจะมีชื่อของ บิล เกตส์ เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ถ้าเราย้อนไปในปี 1999 ที่ บิล เกตส์ ได้ทำนายเกี่ยวเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน (2023) ไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพื้นที่ในโลกออนไลน์จะมีมากขึ้นและเข้าถึงง่ายขึ้นหรือการทำนายว่าทุก ๆ คนบนโลกจะมีการพกอุปกรณ์ขนาดเล็กไว้เพื่อติดต่อสื่อสารกันซึ่งสิ่งนั้นก็คือสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน เมื่อย้อนกลับไปถึงคำนายนั้นแล้ว ทำให้พวกเราได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ มุมมองต่างๆ และความเก๋าเกมส์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ของ บิล เกตส์ ที่สามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ เฉียบขาดและมีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก ดังนั้นบทความที่เรานำมาเล่านี้จะเป็นเรื่อง AI ในมุมมองของ บิล เกตส์ ที่พวกเราคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อทุกๆ คน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะอยู่ในสายงานเทคโนโลยีหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมรับมือกับโลกอนาคตที่กำลังจะมาถึง ซึ่งในเนื้อหาบทความ ‘The Age of AI has begun’ ทาง FORETODAY ได้ทำการสรุปเป็นหัวข้อไว้ แต่หากใครสนใจที่จะอ่านเนื้อหาและรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านบทความฉบับเต็มได้โดย คลิกที่นี่

“The Age of AI has begun บทความที่พูดถึง มุมมองและแนวคิดส่วนตัวของบิลเกตส์เกี่ยวกับโลกในยุคอนาคตเมื่อ ‘AI’ เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด”

อย่างที่ได้เกริ่นไป บิล เกตส์ ได้เล่าผ่านบทความไว้ว่า ในชีวิตของเขานั้นได้เจอการปฏิวัติวงการด้านเทคโนโลยีทั้งหมด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในปี 1980 ตอนที่เค้าได้รู้จักกับโปรแกรม *GUI ที่ชาร์ล ซิโมนีโชว์ให้ดูและหลังจากนั้น ชาร์ล ก็ยังได้ทำงานกับไมโครซอฟท์อีกด้วย ซึ่งโปรแกรม GUI ไมโครซอฟท์ได้จัดให้เป็นโปรแกรมสำคัญที่ทางทีมพัฒนาต่อจนถึงปี 2016 เลยทีเดียว และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่บิลเกตส์รู้สึกตื่นเต้นครั้งต่อมาคือช่วงประมาณกลางปี 2022 เกี่ยวกับ OpenAI ซึ่งที่จริงแล้วเค้าได้รู้จักกับทีม OpenAI ตั้งแต่ปี 2016 อยู่แล้ว เค้าได้ให้ทีมไปลองทดสอบเจ้าตัว OpenAI ในการให้ทดลองทำข้อสอบหลายๆ ด้านเช่น วิชาชีววิทยาและความเข้าใจในพฤติกรรมมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งไอเจ้า OpenAI ก็สามารถทำได้ดียิ่งกว่ามนุษย์ซะอีกซึ่งผิดจากที่ บิล เกตส์ คาดการณ์ไว้ เพราะตอนแรก บิล เกตส์ คิดว่ามันจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนและคะแนนต้องไม่ได้ดีถึงขนาดนี้ สิ่งนี้เองที่ทำให้บิลเกตส์รู้สึกว่ายุคของ AI ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งมันจะเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านเลยทีเดียว เดี๋ยวเราลองไปดูกันว่า บิล เกสต์ เค้าพูดถึงด้านไหนบ้าง เลื่อนไปด้านล่างได้เลย  

*(GUI = Graphic User Interface ต้นแบบของ Operating system ในปัจจุบันเกือบทั้งหมด รวมถึง  Microsoft Windows ก็มีเจ้า GUI เป็นตัวต้นแบบเหมือนกัน) 

คำนิยามและรูปแบบ ‘AI’ ที่ บิล เกตส์ คิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

บิล เกตส์ พูดถึง AI ในมุมมองของเขาว่ามี 2 แบบ ซึ่งแบบแรกเป็นรูปแบบในปัจจุบัน AI ถูกออกแบบมาให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเช่น ChatGPT ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันนั้นก็เป็นหนึ่งใน AI เฉพาะทาง โดยที่มันจะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองจากการคุยโต้ตอบกับมนุษย์ แต่จะไม่สามารถเรียนรู้วิธีการทำอย่างอื่นได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ AI อีกรูปแบบที่เรียกว่า *AGI (artificial general intelligence) การเรียนรู้และการทำงานจะต่างกันเพราะ AGI นั้นจะถูกออกแบบมาเป็นในรูปแบบซอฟแวร์ ซึ่งมีความสามารถที่จะเรียนรู้งานหรือเรื่องใดก็ได้ที่ไม่เฉพาะเจาะจงเหมือน AI แบบ ChatGPT  แต่ในปัจจุบัน AGI ยังไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นมา และกำลังเป็นพูดถึงกันอย่างมากในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับวิธีการสร้าง และความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นของ AGI

บิล เกตส์ ยังบอกอีกด้วยว่าการพัฒนา AGI เป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในอนาคตที่เค้าคาดการณ์ไว้และอยากให้มันเกิดขึ้นมาโดยตลอดหลายทศวรรษ คําถามคือนอกจากการคํานวณแล้วคอมพิวเตอร์จะดีกว่ามนุษย์ในด้านอื่นๆ ได้อีกมั้ย และเมื่อไหร่ แต่ในปัจจุบัน AI สามารถเรียนรู้ได้จากฐานข้อมูลจำนวนมาก ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

* AGI หรือ Artificial General Intelligence จะเป็น AI ระดับที่มีความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์ ซึ่งในที่นี้ AGI จะสามารถคิด ทำความเข้าใจ เรียนรู้ และสามารถประยุกต์ใช้ความสามารถของมันในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เอง ใกล้เคียงกับความสามารถของมนุษย์

ในอนาคต ‘AI’ จะเข้ามาช่วยอาชีพ ครู หมอ พยาบาล 

บิล เกตส์ เล่าว่า ถึงแม้ในปัจจุบันมนุษย์มีความสามารถมากกว่า AI ก็จริง แต่ก็ยังมีหลายงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถก็ทำได้ คนเราในปัจจุบันใช้เวลาไปกับงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถมาก เช่นพวกงานเอกสารต่างๆ ที่ใช้แค่ความเคยชินบวกกับเวลาก็สามารถทำได้แล้ว แต่ปัญหาก็คืองานพวกนี้จะต้องใช้เวลาและคนจำนวนมากในการทำ ซึ่งในอนาคตราคาของโปรแกรมจะถูกลงจนทำให้บริษัทเล็กๆ ทั่วไปสามารถเข้าถึงพวกมันได้ง่ายขึ้น ทำให้พวกมันเข้ามาทำหน้าที่แทนและช่วยจัดการงานต่างๆ มากขึ้น แม้กระทั่งอาชีพอย่างครู หมอ พยาบาล ที่กำลังขาดคนมาจัดการตรงนี้  ต่อไปในอนาคต AI ก็สามารถช่วยจัดการได้เช่นกันซึ่งเป็นสิ่งที่ บิลเกตส์คิดว่าเป็นหลักสำคัญของการสร้าง AI ขึ้นมาในปัจจุบัน

มนุษย์จะได้รับการวินิจฉัยโรคผ่าน ‘AI’ 

ในความคิดของ บิล เกตส์ ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์มีซอฟแวร์ที่สามารถดูข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพซึ่งบริษัทบางแห่งที่กำลังผลิตยาต้านมะเร็งก็ใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้ และในอนาคตซอฟต์แวร์เหล่านี้ก็จะพัฒนา ไปได้ไกลยิ่งขึ้นไปอีก โดย AI จะเข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ผลและคาดเดาว่าควรใช้ยาจำนวนเท่าไหร่ถึงจะรักษาอาการได้ดี และจะเข้าถึงคนจนมากยิ่งขึ้นเพราะมันจะไปช่วยวิเคราะห์และพัฒนาวิธีการรักษาโรคที่เกิดกับคนจนบ่อยสุดเช่น วัณโรค เอดส์ มีแม้กระทั่งโรคมาลาเรีย รวมไปถึงในการปศุสัตว์ AI ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำเกษตรกรเกี่ยวกับพืชที่ปลูกหรือแม้แต่วัคซีนที่ใช้ในการรักษาสัตว์ ในอนาคต AI ก็จะสามารถให้คำแนะนำที่ดีกับเกษตรกรได้เช่นกัน

“AI” จะช่วยพัฒนาระบบการศึกษา

ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าซอฟต์แวร์ที่ช่วยเรื่องการเรียนการสอนจะสามารถปฏิวัติวงการการเรียนรู้ของคน โดยมันจะเข้าไปมีส่วนร่วมในแง่ของการทำให้เนื้อหามีความน่าสนใจและดึงดูดผู้เรียนมากยิ่งขึ้น โดย ChatGPT จะเข้ามามีบทบาทมากที่สุดในการศึกษาและจะมีเครื่องมือใหม่เพิ่มเข้ามาอีกมากมายหลังจากนี้ ในอนาคต AI จะทำหน้าที่ได้แค่ปรับปรุงแต่ไม่สามารถทดแทนครูที่เป็นมนุษย์ได้ 

แต่สิ่งเหล่านี้เหมือนดาบสองคม เพราะปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำก็จะมีเพิ่มขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้เงินในการซื้อเพื่อใช้งาน ก็จะทำให้เหล่าคนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะเตรียมการรองรับและจัดการกับปัญหาเหล่านี้ให้ได้เร็วที่สุด และคุณครูรุ่นเก่าก็ต้องได้รับการเรียนรู้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ก้าวทันยุคสมัยของนักเรียนเพื่อลดปัญหาต่างๆ ในอนาคตที่นักเรียนใช้ซอฟต์แวร์ในการเรียนรู้หรือทำโปรเจคเพื่อคุณครูจะได้สามารถให้คำแนะนำและลดความกังวลของคุณครูเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีของนักเรียน

เมื่อคนหวังพึ่ง AI มากขึ้นในอนาคตความกังวลต่างๆ ก็ตามมา

ข้อกังวลเกี่ยวกับ AI ที่ บิล เกตส์ มองว่ามันน่าจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยการพัฒนา AI ในยุคแรกนั่นก็คือ มันจะยังไม่สามารถเข้าใจบริบทในคำสั่งของมนุษย์เท่าที่ควรและยังมีปัญหาเกี่ยวกับการคำนวณที่บางครั้งให้คำตอบได้ไม่ถูกต้องนักและนอกจากนี้ยังมีความกังวลต่างๆ อีกไม่น้อยอย่างเช่น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ด้วยกันเอง เนื่องจากในอนาคตจะมีสิ่งที่เรียกว่า Superintelligent AIs ที่จะสามารถทำได้ทุกอย่างที่สมองมนุษย์สามารถทำได้ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ AGI เกิดขึ้น พวกมันจะมีความความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับมนุษย์และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ หรือแม้แต่ภัยที่เกิดจากการที่ AI ที่แปรไปเป็นหุ่นยนต์จะสามารถตัดสินใจได้เองโดยที่ไม่พึ่งคำสั่งจากมนุษย์

สิ่งสำคัญที่ บิล เกตส์ แนะนำ สำหรับเตรียมรับมือเมื่อก้าวสู่ยุคสมัย ‘AI’ 

อย่างแรกเลยเราควรที่จะจัดการกับความกลัวเกี่ยวกับ AI ด้วยการเรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและการป้องกันความเสี่ยงในอนาคต

อย่างที่สอง ด้วยความที่กลไกตลาดในปัจจุบันจะไม่ผลิตสินค้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนจน ดังนั้น AI ควรเป็นสิ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับที่โลกนี้ต้องการคนฉลาดๆ มาจัดการกับปัญหาใหญ่ของโลก AI ควรเป็นตัวแทนพวกเราในการจัดการปัญหาเหล่านั้นได้

อย่างต่อมา เราควรตื่นตัวเรื่องของการรับรู้ถึงความไม่เท่าเทียมในมนุษย์ของ AI ซึ่งในด้านของฝั่งมนุษย์เองก็ต้องมีศีลธรรมก่อนเราถึงจะรู้ได้ว่า AI มีการทำงานด้านนี้อย่างถูกต้องหรือไม่และควรตั้งคำถามเกี่ยวกับมันอยู่เสมอว่ามันจะรู้แล้วหรือยัง และถ้ามันรู้แล้วมันแนะนำเราอย่างไร เหตุผลล้วน ๆ ของ AI สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ เป็นต้น

สุดท้ายนี้ทั้งหมดในปัจจุบันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของ AI เท่านั้น ข้อจำกัดหรือสิ่งที่เรากังวลต่าง ๆ สุดท้ายแล้วมันจะหายไปก่อนที่เราจะรู้ตัวซะอีก 

สรุปจากผู้เขียน

จากบทความทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักรู้ถึงความเร็วในยุคสมัยที่ผ่านไป และยิ่งมีสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นอย่างโควิดเข้ามา ทำให้เรารับรู้ได้เลยว่า อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นอย่าเป็นกระต่ายตื่นตูมจนเกินไป หมั่นศึกษาหาความรู้ และคอยอัพเดตข่าวสารอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ตกยุคและทันโลกเพื่อไม่ให้คนเอาเปรียบเราได้และอยู่บนโลกนี้ได้อย่างสงบ ผู้เขียนหวังว่าบทความที่นำมาสรุปในวันนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับผู้อ่านนะครับ