“สาธุ The Believers” ซีรีส์ที่เปิดมุมมองแนวใหม่ของความศรัทธาที่มีต่อศาสนาพุทธ พลิกโฉมการทำการตลาดธุรกิจแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร มาเรียนรู้กลยุทธ์การตลาดยุคใหม่กัน!
ซีรีส์สาธุ The Believers เน้นเรื่องราวยังไงบ้าง?
ศรัทธามา เงินตราเกิด สาธุ ซีรีส์เขย่าความเชื่อ ท้าทายกรอบความคิด ดึงเปลือกศาสนาเผย “กาฝาก” เบื่อไหมกับคำถามซ้ำ ๆ ว่า “ศาสนาดีหรือไม่ดี” ซีรีส์สาธุ ไม่ได้มาตอบคำถามนั้น แต่ทว่ากลับพาคุณดำดิ่งสู่แง่มุมลึกซึ้งของศาสนา ผ่านมุมมองที่แปลกใหม่ ท้าทายความคิดแบบเดิม ๆ ซีรีส์ชุดนี้ไม่ได้ “ลากเอาศาสนามาย่ำยี” แต่กลับใช้ศาสนาเป็นฉากหลังเพื่อตีแผ่ “พฤติกรรมกาฝาก” ที่เกาะกิน เอาเปรียบ เเละเกิดการตั้งคำถามชวนคิดมากมาย เช่น ประเทศไทย เวลาคนเครียดหรือมีปัญหา จะเข้าวัดหรือไปหาจิตแพทย์มากกว่ากัน? ศาสนาถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่? “อะไรคือความศรัทธาอย่างแท้จริง? เตรียมพร้อมเปิดใจ คลายปมความเชื่อ ท้าทายกรอบความคิดไปพร้อมกับ “สาธุ (the believer)” ซีรีส์ไทยที่ทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 บน Netflix
เนื้อเรื่องฉบับย่อขั้นสุดของซีรีส์สาธุ The Believers
“ซีรีส์สาธุ” เริ่มเปิดด้วยเรื่องราวของเพื่อนสนิท 3 คนที่ประกอบไปด้วย “วิน, เกมและเดียร์” ที่ได้ตัดสินใจลงมือทำธุรกิจร่วมกัน ตอนแรกเริ่มต้นด้วยการทำธุรกิจสตาร์ทอัพแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ แถมยังได้หนี้ก้อนโตเพิ่มเข้ามาเป็นของแถมด้วย ทั้ง 3 คนจึงต้องช่วยกันหาหนทางที่จะปลดหนี้เหล่านี้ให้หมดไป และแล้วเมื่อ “วิน” กลับไปที่บ้านและได้เห็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองแถวบ้านของเขา มีผู้ทำบุญบริจาคมากมาย ก็ทำให้วินนึกขึ้นได้ว่าการทำธุรกิจแบบนี้นี่แหล่ะที่จะช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและช่วยปลดหนี้ก้อนโตนี้ไปได้ โดยอาศัยความศรัทธาของผู้คนมาผลักดันให้เกิดการตลาดแบบใหม่
3 กลยุทธ์หลักทางการตลาดที่พบได้ใน “สาธุ The Believers”
- กลยุทธ์การ Rebranding สร้างเรื่องราวปั้นธุรกิจใหม่
จากกระแสยอดฮิตอย่าง “ซีรีส์สาธุ The Believers” ที่ได้ทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 บน Netflix ไปเป็นที่เรียบร้อย ด้วยเนื้อหาที่มีความน่าสนใจ ตีแผ่วงการวัดและพระสงฆ์ในไทย กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างหนึ่งที่ช่วยปลดหนี้ให้กับตัวละครได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยใช้แนวคิด “สาธุและความศรัทธา” ในศาสนาของผู้คน ซีรีส์สาธุสามารถสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชาญฉลาดอย่าง ”การ Rebranding” หรือ ทำการตลาดผ่านการสร้างแบรนด์ที่เป็นตัวตนของเราขึ้นมา
โดยในซีรีส์สาธุนั้นจะทำธุรกิจแบบใหม่โดยใช้การเล่าเรื่องราวที่เป็น storytelling ของวัดร้างต่าง ๆ ที่ไม่มีคนรู้จัก ให้มีความน่าสนใจและกระตุ้นให้เหล่าสายบุญทั้งหลายเกิดความเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมา จนกระทั่งเกิดเป็นกระแสและทำให้ผู้คนมากมายแห่กันเข้ามาทำบุญภายในวัดกันอย่างล้มหลาม เป็นธุรกิจที่เกิดจากการสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จัก จนสามารถช่วยทำเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ เหมาะสมกับชื่อเรื่อง “สาธุ“
- Influencer Marketing กลยุทธ์การตลาดโดยใช้คนมีชื่อเสียง มาช่วยสร้างภาพจำให้กับแบรนด์
Influencer marketing ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยสร้าง Awareness ให้กับแบรนด์ โดยไม่ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ จะต้องเป็นคนที่มีความน่าดึงดูด และเป็นที่รู้จักกับกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี หนึ่งในกลยุทธ์แฝงของ “ซีรีส์สาธุ The Believer” คือการสร้างภาพจำให้กับวัด เพื่อที่จะดึงดูดให้ผู้คนมาวัด ในซีรีส์มีการดำเรื่องของการทำการตลาดโดยใช้ Influencer หรือ Brand Ambassador ที่เป็นที่รู้จักในแวดวงพุทธศาสนา คือ ’พระดล‘ พระป่าหนุ่ม น้ำเสียงละมุนหู เทศน์ที่ไหนใครก็ฟัง ไม่ได้มุสาวาปึ้ง! (รับบทโดย คุณปั๊บ โปเตโต้) ถือว่าตอบโจทย์การเป็น Influencer ซึ่งในตอนแรกก่อนที่พระดลจะเข้ามา ตัวละครทั้ง 3 อย่าง วิน (เจมส์ ธีรดนย์), เดียร์ (แอลลี่ อชิรญา) และ เกม (พีช พชร) ได้มีการทำ สอบถามความเห็น หรือ Feedback จากผู้ฟังพระเทศน์ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินในการเลือก ที่ไม่ใช่แค่ความคิดเห็นตัวเองฝ่ายเดียว และเมื่อพระดลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ก็ทำให้ภาพจำของวัดกุมราม (วัดในซีรีส์) มีความน่าหลงไหล และน่าเชื่อถือมากขึ้นตามสไตล์ของพระดล มีความน่าเชื่อถือเนื่องจากเป็นพระป่า มีภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดี มีการให้คติธรรมสอนใจชาวบ้านได้อย่างล้ำลึก ถือว่าพระดลนี่แหละ ของจริง ของแทร่ สมกับมง Monk Influencer ของวัดกุมราม
- กลยุทธ์ Seeding Marketing ที่ได้ผลลัพธ์เกินคาด!
Seeding Marketing หรือ การตลาดหน้าม้า จะมีความคล้ายกับการจ้าง KOL หรือ Influencer มารีวิวสินค้าให้ดูเหมือนว่าเขาคนนั้นเคยใช้สินค้ามาแล้วจริง ๆ และได้ผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งเหมาะสำหรับช่วงเริ่มต้นในการทำธุรกิจ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกสนใจที่จะทดลองใช้สินค้าของเรามากขึ้น หากมองในเชิงธุรกิจแล้ว การตลาดประเภทนี้ก็อาจจะไม่ได้มีส่วนที่แปลกมากเท่าไร
จากในเรื่องจะเห็นได้ว่า ตอนที่เกมว่าจ้าง “ลุงไพรัช” ให้มาเล่นละครด้วยเงิน 200,000 บาท เพื่อให้ลุงไพรัชช่วยอธิบายกับนักข่าวว่า ตนเองรอดจากอุบัติเหตุและกลับมาเดินได้อีกครั้ง เนื่องจากมีวัตถุมงคลอย่าง “หลวงพ่อผึ้ง” คอยคุ้มครอง ซึ่งลุงไพรัชเล่นละครได้อย่างแนบเนียน ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า มีผู้คนแห่เข้ามาเช่าวัตถุมงคลเพิ่มมากขึ้น และนี่ก็คือสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “การตลาดหน้าม้า” ที่สามารถสร้างยอดขายทางธุรกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์
สรุปใจความด้านการตลาดจากซีรีส์สาธุ The Believers
ซีรีส์ “สาธุ The Believers” จะเป็นการนำเสนอเรื่องราวของเพื่อน 3 คนที่หันมาทำธุรกิจวัดเพื่อปลดหนี้ ผ่านกลยุทธ์การตลาดที่ชาญฉลาด ดังนี้
1. กลยุทธ์การ Rebranding เปลี่ยนวัดร้างให้เป็นวัดดัง
เน้นการถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจ ดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับสร้างแคมเปญทางการตลาดที่แปลกใหม่ เน้นย้ำถึงความศรัทธาและความเชื่อที่มีต่อวัด ให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
2. Influencer Marketing ดึงดูดผู้คนด้วยพลังของพระสงฆ์
’พระดล‘ พระป่าหนุ่ม น้ำเสียงละมุนหู เทศน์ที่ไหนใครก็ฟัง ไม่ได้มุสาวาปึ้ง! สร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ สอบถาม Feedback เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เทศน์คำสอนที่กินใจ โพสลง Social Media เเละ ปากต่อปาก ช่วยดึงดูดผู้คนให้มาที่วัด
3. Seeding Marketing สร้างกระแสผ่านกลยุทธ์ “การตลาดหน้าม้า”
ทำการจ้าง “ลุงไพรัช” แสดงละครเป็นผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุด้วยพุทธคุณ สร้างกระแสและความน่าเชื่อถือให้กับวัด ดึงดูดผู้คนให้มาเช่าวัตถุมงคลและทำบุญ
โดยสรุปแล้ว ซีรีส์ “สาธุ The Believers” ได้นำเสนอมุมมองที่หลากหลายและน่าสนใจ ช่วยกระตุ้นให้เราคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เกี่ยวกับความศรัทธาและความเชื่อที่มีต่อศาสนา ซีรีส์เรื่องนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผู้ที่สนใจในด้านศาสนา การประกอบธุรกิจ และการให้แง่คิดกับชีวิต สาธุ สาธุ สาธุ…