The iCon Group กำลังเป็นกระแสอย่างมากในประเทศไทยช่วงเดือนตุลาคม 2024 เนื่องจากข้อกล่าวหาว่าดำเนินการหลอกลวงด้านการลงทุน โดยมีผู้เสียหายหลายพันราย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมความเสียหายมากกว่า 1.4 พันล้านบาท ผู้เสียหายหลายรายถูกชักชวนให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น วิตามิน และอาหารเสริม โดยมีการใช้คนดังเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของธุรกิจ ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากเชื่อถือและลงทุน แต่ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ที่สั่งซื้อไม่ได้ถูกจัดส่งทั้งหมด หรือไม่สามารถขายได้เนื่องจากราคาที่บริษัทแข่งขันกันเองออนไลน์ วันนี้ฟอร์ทูเดย์จะมานำเสนอเรื่องราวของ The Icon กันค่ะ ว่า Model ธุรกิจแบบนี้ โกงรึป่าว ถ้าพร้อมแล้วไปตามอ่านกันได้เล้ยยย
เปิดโมเดลธุรกิจ The Icon
บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (The iCON) ธุรกิจขายของออนไลน์ โดยจดทะเบียนเป็น ”ธุรกิจการตลาดแบบตรง”
The Icon เป็นบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบขายตรงออนไลน์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 โดยคุณวรัตน์พล วรัทย์วรกุล (พอล) เน้นผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับเทรนด์สุขภาพและความงาม เปิดตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยขายสินค้าผ่านตัวแทนและใช้ ระบบ Drop ship ทำให้ตัวแทนสามารถทำงานได้จากทุกที่โดยไม่ต้องสต็อกสินค้าและไม่ต้องจัดส่งสินค้าเอง บริษัทมีระบบรองรับและยังมีการอบรม การขายออนไลน์ เช่น การสร้างตัวตน การสร้างเพจ และการยิง Ads เพื่อเพิ่มทักษะให้ตัวแทน
การเป็นตัวแทนกับ The Icon ต้องเปิดบิลครั้งแรก มี 2 รูปแบบ คือ
- ขายปลีก: ชำระเงิน 2,500 บาท ได้กำไรจากการขายปลีกและยอดรวมรายเดือน
- ค้าส่ง: แบ่งเป็นขนาดกลาง (25,000 บาท) และขนาดใหญ่ (Dealer) 50,000–250,000 บาท ได้กำไร 5 ต่อ รวมถึงเรทพิเศษจากการขายส่งและโปรโมชั่นพิเศษ โดย Dealer จะได้สิทธิพิเศษเช่นรางวัลรถหรู ทริปเรือยอร์ช ทริปต่างประเทศ ทองคำ และเงินสด
นอกจากนี้ยังมีทีมยิง Ads ช่วยหาลูกค้าให้ตัวแทน แต่ตัวแทนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการยิง Ads เอง
การตลาดทางตรงแบบ The icon เอาเปรียบจริงหรือไม่
กลุ่ม The Icon ถูกกล่าวหาว่าดำเนินธุรกิจการตลาดทางตรงในรูปแบบที่มีลักษณะหลอกลวง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงทางการเงิน โดยจากข้อมูลข่าวระบุว่ามีผู้เสียหายมากกว่า 4,700 ราย โดยสูญเสียเงินรวมมากกว่า 1.4 พันล้านบาท กรณีนี้เกี่ยวข้องกับการล่อลวงผู้ลงทุนให้ซื้อผลิตภัณฑ์และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของบริษัท ผ่านการใช้พรีเซนเตอร์ชื่อดังเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ผู้ลงทุนกลับไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งหรือได้รับเพียงบางส่วน ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมากร้องเรียนและฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย
กรณีนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนและดำเนินคดี แต่จากข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของ The Icon Group อาจมีลักษณะเป็นการตลาดที่หลอกลวง ซึ่งผู้เสียหายหลายคนรายงานว่าไม่ได้รับสินค้าหรือผลประโยชน์ตามที่บริษัทสัญญาไว้
ทางตรง vs ขายตรง ต่างกันอย่างไร
จากกรณีของบริษัท The icon อาจทำให้ทุกคนสงสัยว่า ระหว่างการตลาดทางตรง กับการขายตรงแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?
การขายตรง (Direct Selling) คือ วิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ขายหรือเรียกว่าผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง นำสินค้าไปขายให้กับผู้ซื้อโดยตรงถึงบ้านหรือสถานที่อื่นที่มิใช่ร้านค้าปกติทั่วไป
การตลาดแบบตรง (Direct Marketing) คือ การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ดังนั้นการทำตลาดโดยใช้สื่อในการนำเสนอ การขายสินค้าออนไลน์หรือธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เช่น แอปหรือแพลตฟอร์มต่างๆ จึงเป็นการขายในตลาดแบบตรง
ซึ่งสามารถสรุปเป็นหลักการง่ายๆ ดังนี้
การขายตรง (Direct Selling)
- การขายสินค้า มีตัวแทนหรือเครือข่ายผู้ขายสินค้า รับประกันสินค้าและบริการกับผู้บริโภคโดยตรง
- หลักการ ควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการ ไม่สนับสนุนให้มีการเก็บสต็อกสินค้าจำนวนมาก
- ความสัมพันธ์ ผู้ขายมักจะสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับลูกค้า มีแนวโน้มที่จะซื้อจากคนที่ไว้ใจ ส่งผลให้เกิดการซื้อซ้ำ
- กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ เน้นอบรมวิธีทำการตลาดที่รู้จักคุณภาพสินค้าดี และกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง
- เรื่องราว สร้างความฝันและความเชื่อ ที่นำไปสู่ความสำเร็จ เน้นเล่าเรื่องของสินค้า
การตลาดแบบตรง (Direct Marketing)
- การขายสินค้า ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทน ใช้สื่อผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ e-Commerce (Shopee, Lazada, Facebook, IG)
- หลักการ มีกฎหมายการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำมาทำการตลาดแบบเจาะจง ต้องได้รับความยินยอมจากผู้บริโภคก่อน
- ความสัมพันธ์ สร้างฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อการตลาดที่ตรงเป้าหมาย สร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว
- กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ เน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อ
- เรื่องราว: บอกขายสินค้าตรงๆ ไม่เน้นอธิบายเรื่องราวของสินค้า
แต่ไม่ว่าการขายตรง และการตลาดทางตรง จะแตกต่างกันอย่างไร แต่มีความเหมือนกันคือ การขายทั้ง 2 รูปแบบ อยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ซึ่งการจดทะเบียนบริษัทการขายตรง และตลาดแบบตรงนั้นจะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตจาก “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)”
ตัวอย่างธุรกิจขายตรง
- Amway ธุรกิจขายตรงที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก
Amway เป็นหนึ่งในแบรนด์ชั้นนำในวงการธุรกิจขายตรง (Direct Selling) ที่มีการดำเนินงานในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยมีจุดเริ่มต้นจากการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าด้านสุขภาพ ความงาม และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีคุณภาพสูง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1959 ในสหรัฐอเมริกา โดย ริช เดอโวส (Rich DeVos) และ เจย์ แวนแอนเดล (Jay Van Andel) ปัจจุบัน Amway เติบโตจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจส่วนตัวโดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์
แนวทางการดำเนินธุรกิจของ Amway
Amway ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเครือข่าย (Multi-Level Marketing: MLM) ซึ่งให้โอกาสแก่ผู้เข้าร่วม (หรือที่เรียกว่า “นักธุรกิจ Amway”) สามารถสร้างรายได้ทั้งจากการขายสินค้าของตนเองและการสร้างทีมเพื่อขยายฐานลูกค้าในเครือข่าย นักธุรกิจสามารถเพิ่มรายได้จากการรับค่าคอมมิชชั่นจากยอดขายของตัวเองและสมาชิกในเครือข่ายที่พวกเขาสรรหาเข้ามา
- Giffarine ความสำเร็จของธุรกิจคนไทยในระดับสากล
Giffarine เป็นหนึ่งในแบรนด์ขายตรง (Direct Selling) ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมากว่า 20 ปี บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 โดย ดร.นลินี ไพบูลย์ และ ดร.สมชาย หัชลีฬหา โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ความงาม และของใช้ในครัวเรือนที่มีคุณภาพสูงในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ด้วยการสร้างระบบเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ทำให้ Giffarine กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในวงการธุรกิจขายตรงในไทย
แนวทางการดำเนินธุรกิจของ Giffarine
Giffarine ใช้ระบบ Multi-Level Marketing (MLM) หรือการตลาดแบบหลายชั้น ซึ่งเปิดโอกาสให้นักธุรกิจสามารถสร้างรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์และการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจใหม่ รายได้จะเกิดจากค่าคอมมิชชั่นจากยอดขายทั้งส่วนตัวและยอดขายในทีม
- Mistine ผู้นำธุรกิจขายตรงในไทยที่ครองใจผู้บริโภคมานาน
Mistine แบรนด์เครื่องสำอางที่รู้จักกันดีในไทยและยังเป็นผู้นำในวงการธุรกิจขายตรง (Direct Selling) ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2531 และเติบโตอย่างรวดเร็วจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสม ด้วยการนำเสนอสินค้าด้านความงามที่หลากหลาย เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว น้ำหอม และผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย
แนวทางการดำเนินธุรกิจของ Mistine
Mistine ใช้โมเดลธุรกิจขายตรงในการกระจายสินค้า โดยผ่านตัวแทนจำหน่าย (หรือที่เรียกว่า “สมาชิก Mistine”) ซึ่งเน้นการสร้างเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายเพื่อเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้า สมาชิกของ Mistine สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้โดยไม่ต้องลงทุนมาก และยังมีโอกาสในการสร้างรายได้จากการขายสินค้าผ่านแคตตาล็อกหรือออนไลน์
มาถึงส่วนสรุป เราก็ได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการขายตรงและการตลาดแบบตรงว่างมันต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นหลักการ การขายสินค้า การกระตุ้นการตัดสินใจในการซื้อสินค้า และเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะนำคนไปซื้อสินค้า
ในการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) คือ การทำตลาดโดยใช้สื่อสื่อสารต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการโดยตรงให้กับผู้บริโภค และกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองเพื่อซื้อสินค้า เช่น การขายออนไลน์หรือ e-Commerce อย่าง The Icon ที่เป็นการขายสินค้าผ่านตัวแทนโดยไม่ต้องสต็อกสินค้าและไม่ต้องจัดส่งสินค้าเอง
นอกจากนี้ ยังมีการใช้กลยุทธ์ทางจิตวิทยาเพื่อกดดันผู้ลงทุน เช่น การให้ฟังคำพูดสร้างแรงบันดาลใจ หรือกระตุ้นให้ลงเงินเพิ่มเรื่อย ๆ โดยอ้างว่าใกล้จะประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้หลายคนต้องกู้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุน จนประสบปัญหาหนี้สินอย่างหนัก ขณะนี้มีการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อต่อสู้กับกลุ่มนี้ โดยผู้เสียหายต่างหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม
ส่วนการขายตรง (Direct Selling) คือ การจำหน่ายสินค้าหรือบริการโดยตรงจากผู้ขายถึงผู้ซื้อ โดยไม่ผ่านร้านค้าปกติ อย่างธุรกิจของแอมเวย์ กิฟฟารีน และ มิส ทิน
Story by
Chanaporn Z (May), Co-writer & Researcher
Ketsarin P (Ked), Co-Writer & Infographic
Nattanan A (Khim), Co-writer & Researcher
Pensiri C (Yok), Co-writer & Researcher