คำว่า Feedback หรือคำติชม นับได้ว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองของใครหลายๆคน ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม แต่ถ้ามุมของการทำงาน Feedback ก็จะเหมือนกับตัวชี้วัดให้กับการทำงานนั้น ๆ หรือแม้กระทั่งการทำการตลาดออนไลน์ที่ต้องอาศัย Feedback จากผู้บริโภคเพื่อพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ คนในทีม หรือองค์กร เราจึงต้องมีวิธีในการให้ Feedback ในการทำงานที่ดี ไม่ว่าจะกับลูกน้อง หรือคนในทีมเองก็ตาม เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับ Feedback นั้นสามารถนำไปพัฒนา หรือต่อยอดต่อไปได้ วันนี้ผมจึงอยากแชร์เทคนิคการให้ Feedback หรือคำติชมอย่างสร้างสรรค์ และถูกวิธี เพราะเมื่อใดที่เราคันปาก ไม่มีใครจะช่วยเราเกาปากของเราได้นอกจากตัวเราเอง

ประเภทของการให้ Feedback มีอย่างไรบ้างน้อ?

ก่อนที่เราจะไปดูเทคนิกการให้ Feedback อย่างสร้างสรรค์ เรามาดูกันว่าการให้ Feedback เนี้ย มันมีประเภทไหนบ้าง ซึ่งผมจะขอแยกเป็น 2 ประเภทตามนี้ครับ

  1. Positive Feedback เป็นการให้คำติชมในเชิงบวก เน้นกล่าวชม ให้กำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวชมต่อหน้าผู้อื่น หรือแบบส่วนตัว เป็นการให้คำติชมที่เกิดแรงกระตุ้นเป็นอย่างมาก
  1. Corrective Feedback เป็นการชี้แจงในสิ่งที่ผู้รับ Feedback ทำผิดพลาดให้ทราบโดยตรง ไม่ใช่การกล่าวโทษ และมีการให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

การให้ Feedback อย่างสร้างสรรค์ง่าย ๆ ด้วยวิธี Sandwich !

ใครบ้างจะไปรู้ ว่าแซนด์วิชที่เรากินกันกันอยู่ ก็ถูกหยิบ ถูกจับเอามาเป็นโมเดลการให้ Feedback ได้ด้วย จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ เรามาพิสูจน์กันได้ง่าย ๆ ตามนี้เลยครับ

การให้ Feedback ด้วยเทคนิก The Sandwich Feedback เป็นการให้คำติชมที่อิงมาจาก ชิ้นส่วนของแซนด์วิช ที่ประกอบไปด้วย แป้งฝาบน ไส้แซนด์วิช และแป้งฐาน รวม ๆ แล้วก็เกิดเป็นความอร่อยที่ลงตัว แต่พอหยิบยกมาพูดถึงเรื่องของการให้คำติชม หรือ Feedback มันก็จะเป็นแบบนี้ !

ขอบคุณรูปภาพจาก: (https://fellow.app/blog/feedback/the-feedback-sandwich-should-you-use-it-pros-and-cons/)

ส่วนที่ 1 แป้งฝาบน หรือ Positive Feedback เป็นการให้คำชื่นชม ที่นุ่มนวล ให้ผู้ที่ได้รับ Feedback เปิดประเด็นการชื่นชมด้วยความจริงใจ สำคัญคือไม่อ้อมค้อมมากเกินไป และควรพูดจากเรื่องจริงไม่อิงสคริปต์นะครับ เพราะว่าถ้าเราพูดไม่จริงใจ ปลอม คนฟังเขาดูออกเด้อ

ส่วนที่ 2 ไส้แซนด์วิช หรือ Constructive Feedback เมื่อมีการชื่นชมกันไปแล้วก็เข้าเรื่องของเรากันครับ ส่วนไส้นี้เป็นการเข้าถึงเรื่องที่เราจะอยากจะให้คำแนะนำ หรือกล่าวถึงสิ่งที่ผู้ฟังจะต้องปรับในสิ่งที่ผิดพลาดไป เรื่องหลักๆจะอยู่ในส่วนนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าส่วนนี้จะต้องเป็นการด่า การกล่าวหาว่าผิดอยู่อย่างเดียว การใช้อารมณ์ร่วมไม่ว่าจากเหตุการณ์ไหนมาก่อน (หึยย มันไส้มาเต็มประดาแล้ว) ก็ไม่ควร เพราะไม่ถือว่าผู้ฟังจะได้ประโยชน์อะไรจากการฟังในครั้งนี้ เราควรจะบอกกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ดีและพ้อยท์ที่ผู้ฟังจะสามารถนำไปปรับปรุง หรือแก้ไขให้ดีขึ้นได้ รวมถึงจะต้องเป็นการตรงไปตรงมา กระชับ ได้ใจความ ไม่งั้นจะเป็นการให้ Feedback ที่ไม่ถูกจุด และผู้ฟังจะไม่ได้รับการแก้ไขปัญหานั้น

ส่วนที่ 3 แป้งฐานของแซนด์วิช หรือ Positive Feedback เป็นการให้ Feedback ตบท้ายด้วยการให้กำลังใจ เพราะจากการลิ้มรสชาติของไส้แซนด์วิชเมื่อสักครู่นี้ไปแล้ว ในบางคนอาจจะรู้สึกไม่ดี หากเราผู้ที่เป็นคนให้ Feedback ที่ไม่อยากให้ผู้ฟังรู้สึกจมอยู่กับคำพูดที่ผ่านมา ควรพูดให้ผู้ฟังรู้สึกดีขึ้น โดยการให้กำลังใจที่จริงใจ แสดงออกถึงความห่วงใยที่อยากจะให้ผู้ฟังได้นำ Feedback ที่ได้รับไปปรับปรุง หรือแก้ไข ให้ดีขึ้น

สุดท้ายนี้การให้ Feedback หรือการติชม ถือเป็นการสื่อสารอย่างนึงที่หลาย ๆ คนไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอก กลัวเกิดความขัดแย้ง หรือบอกแล้วจะรุนแรงเกินไป หากใครที่ทำธุรกิจและอยากให้ธุรกิจเติบโต ด้วยผลลัพธ์และเป้าหมายที่ดี ทีมงานรักกัน อย่ากลัวที่จะพูดและอย่าพูดโดยใช้อารมณ์ เทคนิคการให้ Feedback นี้จะทำให้เราได้รู้ว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันเป็นอย่างไรจากมุมมองของคนอื่น ๆ รวมถึงตัวเราเองจะได้รู้ตัวเองด้วย และการให้ Feedback ควรแสดงออกถึงความจริงใจ ตามเหตุผลความเป็นจริง กระชับ ไม่เวิ่นเว้อ หรือออกนอกเรื่องจนเกินไป ที่สำคัญเราควรเลี่ยงคำว่า “ไม่” “แต่” หรือ “ถ้า”เพราะเป็นคำที่ให้ความรู้สึกทางลบ และไม่ควรใช้อารมณ์ลบในการให้ Feedback ครับ

.

“A better tomorrow starts today”

Line@ : bit.ly/ForeToday FB Chat : http://m.me/foretoday