เมื่อพูดถึงระบบสี หลายท่านอาจจะคุ้นเคยหรือได้ยินผ่านหูมา เช่น ระบบสี RGB และ CMYK แต่หารู้ไม่ ว่ามันไม่ได้มีแค่สองตัวนี้เพียงเท่านั้น แต่ยังมีอีก 2 ระบบสี ที่ชื่อว่า HSB และ LAB ซึ่งวันนี้เราจะมาบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าระบบสีทั้ง 4 ตัวนี้ ว่ามันคืออะไร? ต่างกันอย่างไร? แล้วต้องใช้โหมดสีต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อไหร่?
มาทำความรู้จักกันว่ามีระบบสีอะไรบ้าง
ระบบสี RGB
ระบบสี RGB หรือ ระบบสีของแสง เกิดจากการหักเหของแสงจนกลายเป็นช่วงแสงสีรุ้ง ทั้งหมด 7 สี โดยแสงสีทั้งหมดเกิดจาก 3 แม่สี คือ แดง (red) เขียว (green) และ น้ำเงิน (blue) หรือก็คือ RGB ซึ่งช่วงแสงที่มนุษย์มองเห็นได้นั้น จะเรียกว่า อินฟาเรต โดยมีแสงสีม่วงที่มีคลื่นความถี่สูงสุด และแสงสีแดงที่มีคลื่นความถี่ต่ำสุด ดังนั้นคลื่นแสงที่มีความถี่ต่ำกว่าสีแดง และมากกว่าสีม่วง สายตาของมนุษย์จะไม่สามารถมองเห็นได้
ระบบสี RGB เป็นสีที่แสดงผลบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรือจอ Monitor เช่น LCD LED หรือ จอนูน CRT และยังแสดงผลบนจอโทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป หรือจอโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ซึ่งงานที่ต้องใช้โหมดสี RGB นั้น เป็นงานเตรียมภาพบนจอมอนิเตอร์ เช่น งานนำเสนอ Presentation ที่ใช้โปรเจคเตอร์ หรือ การออกแบบ ภาพกราฟิก หรือเว็บไซต์ดีไซน์
ระบบสี CMYK
ระบบสี CMYK หรือระบบที่ใช้สำหรับเครื่องพิมพ์ โดย CMYK ได้มาจากการผสมสีของแม่สี ซึ่งเมื่อนำมาผสมกันด้วยวิธีการพิมพ์ซ้อนทับกัน ก็จะเป็นตามดังนี้
สีเขียว+น้ำเงิน = สีฟ้า Cyan
สีแดง+สีน้ำเงิน = สีแดงอมชมพู Magenta
สีแดง+สีเขียว = สีเหลือง Yellow
และสีดำ แทนด้วย K (ถ้าใช้ B จะซ้ำกับสีน้ำเงิน Blue)
โหมดสี CMYK จะถูกใช้ในงานพิมพ์สีต่าง ๆ ดังนั้นการที่จะพิมพ์งานที่ใช้สีใด ๆ ก็ตามจึงแนะนำให้ใช้โหมดสี CMYK เสมอ เพราะถ้าหากเผลอไปใช้โหมดสี RGB สิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ออกมานั้น สีจะเพี้ยน ไม่เหมือนกับสีที่ออกแบบบนจอนั่นเอง
ระบบสี HSB
ระบบสี HSB เป็นระบบสีตามการมองเห็นของมนุษย์ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
HUE คือ สีต่างๆ ที่เกิดจากแสงสะท้อนมาจากวัตถุแล้วมาเข้าสู่ตาของมนุษย์ ถูกวัดโดยตำแหน่งการแสดงสีจาก “วงล้อสี” ซึ่งมักจะเรียกสีกันตามที่เห็นแต่ละสี เช่น สีเขียว, สีเหลือง, สีแดง, สีน้ำเงิน เป็นต้น
Saturation คือ ค่าความสดของสี จะเริ่มที่ 0 ถึง 100 โดยถ้ากำหนดค่าที่ 0 สีที่ออกมาจะมีความสดน้อย ถ้ากำหนดค่า 100 สีจะสดมาก
Brightness คือ ค่าความสว่างและมืดของสี จะเริ่มที่ 0 ถึง 100 เหมือนกัน โดยถ้ากำหนดค่าที่ 0 จะเป็นสีดำ ส่วน 100 จะเป็นสีขาว
ระบบสี HSB นี้เหมาะกับไปใช้ในงานประเภท UI บนแอปพลิเคชัน ซึ่งข้อดีคือใช้งานง่าย สีมีความใกล้เคียงกัน เวลาปรับค่าสี ไม่ต้องใช้ Color Picker จิ้มดูดสี หรือจิ้มไล่สีใน RGB เพราะ HSB ถ้าเทียบกับความเป็นจริงก็เหมือนกับแสงและเงาที่เรามองเห็นได้ทั่วไป ที่ให้เห็นมิติของวัตถุ เป็นการปรับค่าที่อยู่ในเฉดเดิม แต่อาศัยโดยการปรับที่ค่า Saturation กับ Brightness แทน
ระบบสี LAB
ระบบสี LAB เป็นระบบที่ใช้ได้กับสีที่เกิดจากบนอุปกรณ์ทุกชนิด ถูกกำหนดขึ้นโดย CIE (Commission Internationale d’ Eclarirage) เพื่อให้เป็นสีมาตรฐานกลางของการวัดสีทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกสีใน RGB และ CMYK การกำหนดค่าจะถูกกำหนดจาก 3 ส่วนนี้คือ
Luminance เป็นการกำหนดค่าความสว่าง โดยมีค่าตั้งแต่ 0-100 โดยถ้ากำหนดค่าที่ 0 คือค่าสว่างน้อยจนเป็นสีดำ และค่า 100 คือค่าสว่างมากจนเป็นสีขาว
A คือสีที่ไล่จากเขียวไปแดง B ค่าสีที่ไล่จากน้ำเงินไปเขียว
นอกจากนี้นี้ยังมีอุปกรณ์ที่สำหรับวัดสีบนวัตถุต่างๆ สำหรับปัจจุบันที่นิยมใช้กันก็คือ Spectrophotometer แต่อาจจะมีต้นทุนแพงหน่อย แต่ก็ยังมีที่ใช้ทดแทนในต้นทุนที่ต่ำกว่าคือการใช้เครื่อง Scanner ร่วมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเพื่อตรวจค่าสี แต่การอ่านค่าสีจากโปรแกรมสำเร็จรูปอาจจะมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการอ่านค่านี้ได้ เช่น คุณภาพอุปกรณ์ การ์ดจอประมวลผล เป็นต้น
ระบบสีนั้นมีหลายระบบให้เราเลือกใช้ แต่การใช้งานนั้นก็แตกต่างกันออกไป ดังเช่นที่กล่าวมาในข้างต้น ดังนั้นจึงต้องปรับการใช้งานให้เหมาะสมกับสิ่งต่างๆ ก็จะได้ผลลัพธ์ตรงกับความต้องการ
“A better tomorrow starts today”
Line@ : bit.ly/ForeToday
FB Chat : http://m.me/foretoday